กรมควบคุมโรค แนะกฎ 10 ข้อ ป้องกันอาหารเป็นพิษ
10 เมนูเสี่ยง ปรุงนานหรือค้างมื้อ ระวังอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วง (กรมควบคุมโรค)
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557 นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าจากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2557 – 9 มิ.ย.2557 พบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ 55,523 ราย จาก 77 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 87.40 ต่อแสนประชากร ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ คือ 45-54 ปี (ร้อยละ 11.94) รองลงมา 15-24 ปี และ อายุมากกว่า 65 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษสูงสุด 5 อันดับแรก คือ หนองบัวลำภู (255.33 ต่อแสนประชากร) รองลงมา คือ อุดรธานี นครพนม ปราจีนบุรี และอำนาจเจริญ ตามลำดับ
โรคอาหารเป็นพิษเป็นคำกว้าง ๆ ที่ใช้อธิบายถึงอาการป่วยที่เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือน้ำที่มีการปนเปื้อน ได้แก่ ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือ พยาธิ ปนเปื้อนสารพิษ สารเคมี หรือโลหะหนัก เป็นต้น ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การเก็บรักษา การประกอบอาหาร และการบริการอาหาร บางครั้งอาการอาหารเป็นพิษ อาจเกิดจากการบริโภคสิ่งที่เป็นพิษโดยตรง เช่น เมล็ดสบู่ดำ ลูกโพธิ์ ปลาปักเป้า คางคก เป็นต้น
การระบาดของโรคอาหารเป็นพิษ พบได้จากการที่คนจำนวนมากรับประทานอาหารปนเปื้อนร่วมกัน และมีอาการอย่างรวดเร็วหลังจากรับประทานอาหารแล้ว อาการของโรคอาหารเป็นพิษ ส่วนใหญ่ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำและปวดมวนท้องรุนแรงเฉียบพลัน บางครั้งมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้และปวดศีรษะ บางครั้งมีอาการคล้ายเป็นบิด ถ่ายอุจจาระปนเลือด หรือเป็นมูก ไข้สูง และมีจำนวนเม็ดเลือดขาวสูง เป็นโรคที่ไม่ค่อยรุนแรง มีระยะเวลาดำเนินโรค 1-7 วัน
การติดเชื้อในระบบอื่นของร่างกายและการตายพบได้ แต่พบน้อยมาก ระยะฟักตัว ปกติ 6-25 ชั่วโมง หรืออยู่ในช่วง 4-30 ชั่วโมง การติดต่ออาหารที่ต้องให้ระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะถ้าปรุงไว้นานหรือค้างมือ 10 เมนู ได้แก่
-ลาบ และก้อยดิบ
-ยำกุ้งเต้น
- ยำหอยแครง
-ข้าวผัดโรยเนื้อปู
-อาหารผสมกะทิ หรือราดกะทิ เช่น ข้าวเหนียวมะม่วง
-ขนมจีน
-ข้าวมันไก่
-ส้มตำ
-สลัดผัก
-น้ำและน้ำแข็ง
อาหารเป็นพิษ
โรคอาหารเป็นพิษ มักป่วยไม่รุนแรงรักษาได้ตามอาการ เช่น อาการ ปวดท้อง และการทดแทนด้วยน้ำและเกลือแร่ ด้วยสารละลายเกลือแร่ และน้ำตาลทางปาก ไม่แนะนำการให้ยาปฏิชีวนะ การป้องกันโรคอาหารเป็นพิษทุกสาเหตุสำคัญที่สุด ด้วยมาตรการป้องกันโรคตามกฎหลัก 10 ประการดังนี้
1. เลือกอาหารที่ผ่านการเตรียมเป็นอย่างดี อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบควรรับประทานเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่เท่านั้น หากมีปริมาณที่เหลือแล้วไม่ควรเก็บไว้ เพราะจะบูดเสียง่าย ผักสดต้องล้างให้สะอาด
2. ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึง ในกลุ่มของอาหารทะเลต้องปรุงสุก หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะกุ้ง หอย ปลาหมึก
3. ควรกินอาหารที่สุกใหม่ ๆ ควรรับประทานทันทีไม่เกิน 2-4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จเส้นขนมจีนที่ทำจากแป้งหมักเสียง่ายไม่ควรทิ้งค้างคืน
4. ระมัดระวังอาหารที่ปรุงสุกแล้วอย่าให้มีการปนเปื้อน
5. อาหารที่ค้างมื้อต้องอุ่นให้ร้อนก่อน
6. แยกอาหารดิบและอาหารสุก ให้ระมัดระวังการปนเปื้อน ส่วนอาหารถุงและอาหารกล่อง ควรบรรจุแยกกันระหว่างข้าวและกับข้าว
7. ล้างมือก่อนจับต้องอาหารเข้าสู่ปาก
8. รักษาความสะอาดของห้องครัว อุปกรณ์ประกอบอาหารและรับประทานอาหาร
9. เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์อื่น ๆ
10 .ใช้น้ำสะอาด น้ำดื่มและน้ำแข็งควรเลือกที่บรรจุภัณฑ์มีเครื่องหมาย อย.รับรอง ภาชนะปิดแน่นและไม่นำน้ำแข็งที่ใช้แช่ของมารับประทาน
สำหรับส้มตำที่นิยมรับประทานกันมาก ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะการปรุงจะใส่วัตถุดิบที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคทั้งปลาร้า ปูดอง ผักสด ทั้งมะละกอ มะเขือ หากล้างไม่สะอาดจะทำให้เสี่ยงต่ออาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วงได้ง่าย ทั้งนี้ หากมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น เช่น อาเจียนมาก รับประทานอาหารและน้ำไม่ได้ ถ่ายเหลวไม่หยุด มีไข้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ให้รีบมาพบแพทย์ ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร. 0-2590 3183 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422